ครูบาเจ้าศรีวิชัย




   หากมีโอกาสที่จะขึ้นมาเที่ยวที่เชียงใหม่แล้วนั้น ไม่ควรพลาดโอกาสที่จะมาสักการะ "ครูบาศรีวิชัย" เพราะถือได้ว่าเป็นรูปเคารพของคนเชียงใหม่ ก่อนที่จะเดินขึ้นไปสักการะต่อที่ดอยสุเทพ หรืออาจจะแวะไปเที่ยวต่อที่สวนสัตว์เชียงใหม่ สำหรับผู้ที่เดินทางมากับเด็กๆ
  ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น "ตนบุญ" หรือ "นักบุญ" อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน"ตุ๊เจ้าสิลิ") แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองเป็น พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ เดิมชื่อเฟือนหรืออินท์เฟือนบ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ(เดือน ๗ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ.๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๑ ที่หมู่บ้านชื่อ "บ้านปาง" ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน มีชื่อตามลำดับ คือ ๑. นายไหว ๒. นางอวน ๓. นายอินท์เฟือน(ครูบาศรีวิชัย) ๔. นางแว่น ๕. นายทา 

ครูบาศรีวิชัย เป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด ท่านงดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทย บางครั้งก็ไม่ฉันข้าวทั้ง 5 เดือน นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง 7 คือ
  • วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง
  • วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา
  • วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ
  • วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก
  • วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย
  • วันศุกร์ ไม่ฉันเทา
  • วันเสาร์ ไม่ฉันบอน
นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิกและ ผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4 จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก

ผลงานที่เด่นมากของครูบาศรีวิชัยก็คือ การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้รับคำเรียกร้องจากศรัทธาประชาชน ให้ช่วยดำริและจัดการเรื่องนี้ จึงเริ่มลงมือสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ เชิงดอยสุเทพด้านห้วยแก้ว โดยมี พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้ขุดจอบเป็นปฐมฤกษ์ การสร้างถนนสายนี้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากวันหนึ่งๆ จะมีผู้คนช่วยทำงานประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ถ้าคิดมูลค่าแรงงานเป็นเงินก็คงมากมายมหาศาลทีเดียว การสร้างทางสายนี้ใช้เวลา 5 เดือน กับ 22 วัน จึงแล้วเสร็จ และเปิดให้รถขึ้นลงได้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478

 
Design by Free WordPress Themes | Blogger Theme by Lasantha - Premium Blogger Templates | Affiliate Network Reviews